ได้มีโอกาสไปร่วมโครงการศิลปะสัญจรสู่สถานศึกษา หนึ่งในโครงการดี ๆ ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดขึ้น ที่ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ กรุงเทพฯ โดยมีน้อง ๆ นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ซึ่ง นายชาย นครชัย ผอ.สศร. ได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการให้ฟังว่า โครงการนี้จะสัญจรไปตามสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยเห็นความสำคัญของงานศิลปะ และศิลปะร่วมสมัย ไม่เพียงเท่านั้น สศร. ยังได้นำองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาไทยผสมผสานไปในกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วย เช่นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเรามีกิจกรรมที่น่าสนใจถึง 8 ฐาน ได้แก่ ฐานกิจกรรมถ่ายภาพ ฐานกิจกรรมสอนน้องทำหนัง ฐานกิจกรรมภูมิปัญญาไทยใกล้แค่เอื้อม ฐานกิจกรรมรักการอ่าน ฐานกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย ฐานกิจกรรมศิลปะ 1 (ภาพพิมพ์) ฐานกิจกรรมศิลปะ 2 (ประดิษฐ์หน้ากาก จากแผ่นปูนทำเฝือกอ่อน) ฐานกิจกรรมศิลปะ 3 (ออกแบบและประดิษฐ์พวงกุญแจ จากกระดุม ลูกปัด) โดยมีวิทยากรผู้ชำนาญการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาให้ความรู้ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ สศร. ต้องการทำให้เด็กไทยรู้จักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและได้รับความรู้ภูมิปัญญาไทยไปด้วย
อาจารย์กมลลักษณ์ พงษ์นิกร อาจารย์ประจำชั้น ป.4 มองว่า ศิลปะกับภูมิปัญญาไทยผสมผสานกันได้อย่างแยบยล ในอดีตบรรดาคณะครูของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้รับการสืบทอดวิชาภูมิปัญญาไทยนานาชนิด เช่น การทำน้ำอบ น้ำปรุง สีผึ้ง การหีบผ้า การร้อยมาลัย และสูตรอาหารไทยตำรับชาววังจาก คุณยายช่วง สุเดชะ ข้าราชบริพารฝ่ายใน เจ้าของสูตรน้ำอบไทยในวังหลวงตำรับ พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ซึ่งเราลูกหลานไทยต้องช่วยกันสืบทอด และภูมิปัญญาชาววังอันเป็นอัตลักษณ์ของไทยมิให้สูญหาย โดยคณะครูก็ได้นำความรู้และศิลปะร่วมสมัยเหล่านี้มาผสมผสานกัน เพื่อนำไปต่อยอดในกลุ่มสาระวิชาการเรียนการสอนต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ อาจารย์ประไพ อิงคะวะระ หนึ่งในวิทยากร กล่าวด้วยความรู้สึกว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ภูมิปัญญาไทยมาให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมที่ผสมผสานอยู่ในฐานภูมิปัญญาไทยใกล้แค่เอื้อม ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการร้อย มาลัยกระดาษย่นและผ้าลูกไม้ ที่หายไปจากท้องตลาด รวมถึง พวงมโหตร ซึ่งหัตถศิลป์พื้นบ้านตามภาษาเรียกขานของชาวไทยพวน จ.สุพรรณบุรี ตลอดจน ธงตาข่าย ที่ทำจากกระดาษว่าว ขณะเดียวกันก็ได้คิดประยุกต์ทำเป็นสมุดงานประดิษฐ์ภูมิปัญญาสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อให้ครูและนักเรียนนำไปต่อยอดกับสาระวิชาอื่น ๆ ได้ตามความต้องการ หรือนำไปประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย ให้เป็นของขวัญวันเกิด วันปีใหม่ วันวาเลนไทน์ และเทศกาลต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือช่วยประหยัดรายจ่ายนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และหากพัฒนาฝีมือก็สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้เขาจะรู้สึกเช่นไรและได้รับความรู้อะไรบ้าง อย่าง น้องแก้ม ด.ญ.ภัทรภรณ์ สำเร็จประสงค์ ชั้น ป.4/3 บอกว่า ปัจจุบันคนเราห่างไกลศิลปะและวัฒนธรรมไทย ขาดการขัดเกลาจิตใจ ศิลปะจะช่วยให้เราได้ฝึกสมาธิ ทำให้จิตใจอ่อนโยน มีความตั้งใจ และจากการเข้าค่ายศิลปะครั้งนี้ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ อย่างการระบายสีในการเรียนศิลปะ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเลือกซื้อสีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทำให้เรารู้จักคำว่า ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมากขึ้นด้วย
ส่วน น้องปูณ ด.ญ.นภสร ค้อชากุล นักเรียนชั้น ป. 4/2 บอกว่า การเข้าค่ายศิลปะครั้งนี้เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเรียนวิชาความรู้สมัยโบราณ ได้ฝึกฝีมือและได้วิชาความรู้ที่ผสมผสานขนบประเพณีไทยพื้นบ้านได้รู้ว่าลูกมโหตรและธงตาข่ายสมัยก่อนใช้ประดับตกแต่งในเทศกาลงานประเพณี งานบุญและได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยเรา ส่วนฐานความรู้อื่น ๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ทำของขวัญของชำร่วยที่สวยงามและมีความเป็นไทย เพื่อมอบให้เพื่อน ๆ หรือเพื่อใช้ในเทศกาลต่าง ๆ ได้ด้วย
ถึงแม้กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางศิลปะผสมผสานภูมิปัญญาไทยจากค่ายศิลปะสัญจรสู่สถานศึกษา ในครั้งนี้จะปิดฉากลงไปแล้ว แต่ทว่าความสุขเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ คือ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจในวิชาความรู้ทางศิลปะร่วมสมัย และความเป็นไทยที่เด็ก ๆ ได้รับจากครูอาจารย์ทุกท่านที่นำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายทอดให้ เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าที่เด็ก ๆ สามารถนำไปใช้ได้ไม่มีวันหมด.